เป็นหนี้เสีย…เสียอะไรบ้าง
หลายๆครั้งที่ไปแนะนำโครงการคลินิกแก้หนี้ เมื่อได้ฟังวิธีการในการช่วยเหลือทั้งในเรื่องของการลดอัตราดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ มักได้ยินคำว่า “ปล่อยให้เป็นหนี้เสียดีกว่าจะได้เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้” ซึ่งในความเป็นจริงโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้เสีย ควบคู่ไปกับการมีวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้คนกลับมาเป็นหนี้ซ้ำ แต่ไม่ได้เป็นการสนับสนุนให้คนเป็นหนี้เสีย เพราะการเป็นหนี้เสียนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี อย่างที่ชื่อบอกว่า “หนี้เสีย” มาดูกันว่าการเป็นหนี้เสียจะเสียอะไรบ้าง
1.เสียดอกเบี้ยจากการจ่ายขั้นต่ำหรือจ่ายไม่เต็มจำนวน ยกตัวอย่าง บัตรเครดิตจะมีระยะเวลาที่ปลอดดอกเบี้ยประมาณ 45 วัน เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระแล้วจ่ายไม่เต็มจำนวน ดอกเบี้ยจะเริ่มคิดตั้งแต่วันแรกที่เรารูดบัตรเครดิตนอกเหนือจากนี้หากเราค้างชำระหรือจ่ายไม่ตรงเวลาก็จะมีในส่วนของค่าผิดนัดชำระ หรือค่าติดตามทวงถามตามมาด้วย
2.เสียความน่าเชื่อถือ เนื่องจากประวัติในการชำระเงินไม่ดี ทำให้ความน่าเชื่อถือของเราลดลง ในอนาคตหากต้องการกู้เพื่อทำธุรกิจ หรือกู้ซื้อบ้าน อาจทำให้ยากต่อการกู้ หรือได้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าคนที่มีประวัติทางการเงินที่ดี
3.เสียวินัยทางการเงิน เป็นสาเหตุให้สภาพคล่องทางการเงินในการใช้ชีวิตประจำวันลดน้อยลง จนทำให้เสียอิสระภาพทางการเงิน ซึ่งอาจทำให้เราจมอยู่กับวังวนการเป็นหนี้ไม่รู้จบหากไม่แก้ปัญหาอย่างถูกวิธี เช่น การกู้เงินเพิ่มเพื่อมาใช้จ่ายและชำระหนี้ แทนที่จะเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ หรือเจรจาในการแก้ไขปัญหาหนี้กับสถาบันการเงิน อย่างที่ควรจะเป็น
จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เห็นว่าการเป็นหนี้เสีย มีแต่เสียกับเสีย ดังนั้น จึงไม่อยากให้คนสร้างค่านิยมว่า “ปล่อยให้เป็นหนี้เสียดีกว่าจะได้เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้” เพราะโครงการคลินิกแก้หนี้สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้สินครัวเรือนของประเทศ ซึ่งหากทุกคนสร้างค่านิยมผิดๆเช่นนี้ สุดท้ายปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยก็จะไม่หมดไปเสียที
ที่มา: https://www.krungsri.com/bank/th/krungsri-consumer/moneymatters/differences-of-good-debt-bad-debts.html