เจ้าหนี้ ยึด/อายัด ทรัพย์สินอะไรได้บ้าง?
ลูกหนี้จำนวนมาก ไม่ทราบผลกระทบของการเป็นหนี้เสีย (NPL) หรือหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90วัน ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือการสูญเสียความน่าเชื่อถือ เพราะเมื่อเจ้าหนี้ตรวจสอบประวัติจะทราบทันทีว่า ลูกหนี้รายนี้เคยมีประวัติค้างชำระหนี้เกินกว่า 90วัน จึงทำให้ลูกหนี้เสียโอกาสในการขอสินเชื่อ ที่หนักกว่านั้นคือ หากยังไม่มีการเจรจาแก้ไขหนี้ ย่อมจะถูกติดตามทวงถาม ถูกดำเนินคดี จนกระทั่งถูกพิพากษา และบังคับคดี ดังนั้นเรามาดูกันว่าในชั้นบังคับคดี เจ้าหนี้สามารถยึด หรืออายัดอะไรได้บ้าง และ ยึดหรืออายัดอะไรไม่ได้บ้าง
1.เจ้าหนี้ยึดอะไรได้บ้าง
การยึดทรัพย์สิน หมายถึง การบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อรับชำระหนี้ ให้บรรลุผลตามคำพิพากษา สิ่งที่เจ้าหนี้สามารถยึดได้ เช่น
1.บ้าน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ ทั้งที่ติดจำนองหรือไม่ติดจำนอง
2.รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ และไม่ได้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
3.ของมีค่า เครื่องประดับที่มีมูลค่า เพชร พลอย นาฬิกา สร้อยคอทองคำและของสะสมที่มีมูลค่ารวมเกิน100,000 บาท
4.ของใช้ส่วนตัว อาทิ เสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ และเฟอร์นิเจอร์ ที่มีมูลค่ารวมกันเกิน 20,000 บาท
5.เครื่องมือในการประกอบอาชีพของลูกหนี้ ที่มีมูลค่ารวมกันเกิน 100,000 บาท
6.ทรัพย์สินประเภทสัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่ใช้ในการช่วยเหลือหรือแทนอวัยวะ
2.เจ้าหนี้อายัด อะไรได้บ้าง
การอายัดทรัพย์สิน หมายถึง การบังคับคดีรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ การบังคับคดีกับทรัพย์สินที่มีอยู่ในครอบครองของลูกหนี้โดยตรง แต่จะเป็นการบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เป็นการสั่งให้บุคคลภายนอกมิให้ชำระหนี้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ให้ชำระแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีแทน สิ่งที่เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ เช่น
1.เงินเดือน ค่าจ้าง หรือรายได้อื่นที่มีลักษณะจ่ายค่าตอบแทนการจ้างงานเป็นรายเดือน อายัดได้ไม่เกิน 30% โดยต้องเป็นลูกหนี้ที่มีเงินเดือนมากกว่า 20,000 บาท**
2.เงินโบนัส สามารถอายัดได้ แต่ต้องอายัดได้ไม่เกิน 50%
3.เงินค่าตำแหน่งทางวิชาการ อายัดได้เฉพาะที่เป็นสังกัดเอกชน เพราะถือว่าเป็นเงินเดือน
4.เงินที่ตอบแทนการออกจากงาน โดยปกติอายัดได้ไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามเจ้าหน้าที่บังคับคดีเห็นสมควร
5.เงินค่าตอบแทนจากการทำงานเป็นชั่วคราว อายัดได้ไม่เกิน 30 %
6.เงินฝากในบัญชี สถาบันการเงิน
7.เงินปันผลจากการลงทุนในหุ้น
8.ค่างวดงานตามสัญญาจ้าง
9.ค่าเช่าทรัพย์สิน
**กรณีอายัดเงินเดือน พนักงานบังคับคดีจะส่งหนังสืออายัดไปยังนายจ้าง เพื่อให้นายจ้างนำส่งเงินเดือนไปยังกรมบังคับคดีโดยตรง เมื่อนายจ้างได้รับหนังสือแล้วมีหน้าที่ส่งมอบเงินเดือนของลูกหนี้ไปยังกรมบังคับคดี หากฝ่าฝืนแล้วทำให้เจ้าหนี้เสียหาย นายจ้างจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เสมือนเป็นลูกหนี้
กรณีที่ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดให้เจ้าหนี้ยึด/อายัด หรือกรณีเจ้าหนี้ยึด/อายัด เรียกชำระหนี้แล้ว มีหนี้คงเหลือเกินกว่า 1 ล้านบาท ก็จะเข้าสู่กระบวนการของคดีล้มละลายต่อไป
ดังนั้นการเจรจาแก้ไขหนี้กับเจ้าหนี้ จึงเป็นสิ่งที่ลูกหนี้ควรดำเนินการให้ได้ข้อยุติ เมื่อรู้ตัวว่าหนี้เริ่มมีปัญหา เพราะหากปล่อยไว้นาน จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น กระบวนการทางคดีและขั้นตอนในการแก้ไขยากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในชั้นคดีใด ก็สามารถเจรจาหาทางแก้ไขกับเจ้าหนี้ได้ หากมีความตั้งใจจริง และต้องการปลดหนี้เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
ที่มา : https://www.law.tu.ac.th/debt-support-project-summary-special-ep2/ วันที่สืบค้น 24 ส.ค.2566
ที่มา : คู่มือติดต่อราชการ กรมบังคับคดีแพ่ง เรื่องการยึดทรัพย์สิน การอายัดทรัพย์สิน กรมบังคับคดี กระทรวง
ยุติธรรม