เข้าใจไว้…เพื่อห่างไกลหนี้
เข้าใจไว้…เพื่อห่างไกลหนี้
1. เข้าใจตนเอง หากต้องการก่อหนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต หรือเพื่อยกระดับฐานะทางสังคม ก็ต้องแยกแยะให้ได้ว่าอะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น จุดที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน หากแยกแยะไม่ได้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้จ่ายเกินตัว ทำให้ก่อหนี้มากกว่าความจำเป็นพื้นฐาน แต่หากแยกแยะได้ การก่อหนี้เช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้น
2. เข้าใจศักยภาพ อย่าเพิ่งเริ่มต้นก่อหนี้จนกว่าจะมั่นใจ และมั่นคงในรายได้ เช่น จะซื้อบ้าน ซึ่งต้องผ่อนชำระกันยาวนับ 10 – 20 ปี ต้องมั่นใจว่าจะสามารถผ่อนได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งค่างวดในการผ่อนชำระ ไม่ควรเกิน 1 /3 ของรายได้สุทธิต่อเดือน และเมื่อเริ่มผ่อนบ้านแล้ว ควรชะลอการสร้างหนี้เพิ่มเด็ดขาด ควรรอให้รายได้เพิ่มเพียงพอที่จะก่อหนี้เพิ่ม
3.เข้าใจการสร้างเครดิตตนเอง ต้องพยายามสร้างเครดิตให้เป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงิน เช่น การติดต่อทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินอย่างสม่ำเสมอทั้งการออมเงินหรือการลงทุน การหมุนเวียนบัญชี หรือการใช้บัตรเครดิตอย่างถูกต้อง ด้วยการสร้างวินัยในการชำระหนี้ให้ตรงตามงวด หรือชำระหนี้ให้หมดลงโดยเร็ว เพื่อผลดีหากต้องขอสินเชื่อในอนาคต เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือ ลงทุนทำธุรกิจ เป็นต้น ป้องกันการกู้เงินผิดประเภท หรือผิดวิธี จะเกิดหนี้ที่ไม่พึงประสงค์
4.เข้าใจการเป็นหนี้ มีความรับผิดชอบในการชำระเงินต้นคืนและดอกเบี้ย หนี้ที่ก่อขึ้นจะต้องสามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ด้วยรายได้ที่แท้จริง ณ ปัจจุบัน ต้องไม่สร้างหนี้เพื่อจะจ่ายหนี้ด้วยรายได้ในอนาคต เพราะไม่มีความแน่นอน หากผิดแผนจะเป็นการสร้างภาระหนี้เกินตัวทันที
5.เข้าใจการสร้างเงินออมสำรองไว้ยามฉุกเฉิน หากเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น ตัวเอง หรือคนในครอบครัว เกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยกะทันหัน จะได้มีเงินสำรองจัดการปัญหาได้ทันที ซึ่งเงินออมฉุกเฉินนี้ จะช่วยลดภาระในการกู้เงินฉุกเฉิน หรือ บางคนอาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินเลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่การวางแผนเก็บเงินก้อนนี้
การเข้าใจตนเอง เข้าใจศักยภาพ เข้าใจการสร้างเครดิตตนเอง เข้าใจการเป็นหนี้ เข้าใจการสร้างเงินออมสำรองไว้ยามฉุกเฉิน ถ้าทุกคนเข้าใจอย่างถ่องแท้ ย่อมห่างไกลจากการเป็นหนี้ และรับมือกับทุกสถานการณ์ของชีวิตได้อย่างดี
คลินิกแก้หนี้ by SAM